ตู้คาปาซิเตอร์ ( Capacitor Bank ) หรือ ตู้แคปแบงค์ ( Cap Bank )

ก็คือตัวเก็บประจุไฟฟ้า (Capacitor) ขนาดใหญ่จำนวนหลายชุด ที่ใส่ขนานเข้ามาในระบบไฟฟ้าเพื่อทำหน้าที่ปรับค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ (PF.) ของระบบให้มีค่าสูงขึ้นเพื่อที่จะไม่ต้องเสียค่าปรับและลดกำลังงานสูญเสียในระบบ ส่วนประกอบภายใน Capacitor Bank ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุมค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ (PF. Controller) ตัวเก็บประจุไฟฟ้า (Capacitor) และอุปกรณ์ตัดต่อตัวเก็บประจุไฟฟ้า (Magnetic Contractor) โดยจำนวนหรือขนาดของคาปาซิเตอร์ที่ต้องการต่อเข้ากับระบบไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับค่ากำลังงานรีแอคทีฟที่เกิดขึ้นในระบบในขณะนั้น โดย PF. Controller จะทำการตรวจวัดค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ (PF.) ของระบบ และจะสั่งการให้ Magnetic Contractor ต่อหรือปลดคาปาซิเตอร์จากระบบเพื่อให้ได้ค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ (PF.) ตามต้องการ เมื่อระบบไฟฟ้ามีค่า Power Factor (P.F) ต่ำ จะส่งผลให้ความสามารถในการจ่ายไฟฟ้า (capacity) ของหม้อแปลงลดลงและถ้าความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าให้กับโหลดของหม้อแปลงใกล้เต็มแล้ว ก็จะทำให้ไม่สามารถ จ่ายไฟฟ้าให้กับโหลดไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้ แม้ว่ากำลังไฟฟ้า (kW) ที่ใช้อยู่จะยัง ไม่เต็มก็ตาม นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้สายไฟยาวมาก ก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลในสายไฟมีค่าสูงขึ้นและความร้อนในสายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดค่าสูญเสีย (losses) ตามขนาดของกระแสยกกำลังสอง และที่สำคัญผู้ใช้ไฟฟ้า จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มให้กับการไฟฟ้า คือค่า reactive power (kVAR charge) ในส่วนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน 0.85 อีกด้วยดังนั้นเพื่อควบคุมค่า P.F. ในโรงงานไม่ให้ต่ำกว่า 0.85 จึงต้องมีการติดตั้ง Capacitor Bank เพิ่มเข้าไปในระบบไฟฟ้า โดยทั่วไปแล้วการไฟฟ้าจะกำหนด ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าติดตั้ง Capacitor Bank มีขนาดไม่น้อยกว่า หรือ เท่ากับ 30% ของขนาดหม้อแปลงไฟฟ้า และต้องสัมพันธ์กับลักษณะโหลดทางไฟฟ้าที่ใช้อยู่ คือ – ถ้าเป็น Inductive Load เช่น induction motor ขนาดของ Capacitor Bank อาจจะต้องเพิ่มขึ้น – ถ้าเป็น Resistive Load เช่น เครื่องทำความร้อน ขนาดของ Capacitor Bank อาจจะต้องลดลง

 

Research